Featured Stories
ข่าวสารและบทความ — Unlock Your Potential! แรงบันดาลใจจาก 2 นักศึกษาทุนเปิดประตูสู่โลกนวัตกรรม
Unlock Your Potential!
แรงบันดาลใจจาก 2 นักศึกษาทุน
เปิดประตูสู่โลกนวัตกรรม

เส้นทางสู่ความสำเร็จไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน เช่นเดียวกับ 2 นักศึกษาทุนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และสมาชิกห้องปฏิบัติการโรบอทสตูดิโอที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการก้าวออกจากกรอบความคุ้นเคยสู่เวทีการแข่งขัน คือกุญแจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ในโลกแห่งนวัตกรรม
ไนน์ ณัฏฐณรงค์ เที่ยงจิตต์ นักศึกษาทุน Tech Talent และ เกี๊ยวซ่า ชณัญญา สุทธิ นักศึกษาทุนเพชรชัยพฤกษ์ สองตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่กล้าท้าทายตัวเองผ่านการเข้าร่วมโครงการระดับประเทศอย่าง "Learn Lab 2025" และโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ "Learning Express Programme 2025" เพื่อเสริมสร้างทักษะ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ปัญหาจริง

Learn Lab 2025: Creativity Beyond AI
Learn Lab 2025 เป็นเวทีแข่งขันภายใต้แนวคิด Meta Learning ที่มุ่งปลดล็อกศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยผสานการใช้เทคโนโลยี AI ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรม Mega Trend "โครงการนี้เป็นความท้าทายครั้งแรกที่เราทำงานร่วมกัน ท่ามกลางการแข่งขันจากกว่า 130 ทีมทั่วประเทศ เปรียบเสมือนการได้ทดลองในพื้นที่ Sand Box ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมและต่อยอดธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญทั้งอาหาร ดนตรี และศิลปะ รวมถึงความงามและการดูแลสุขภาพ"


โดยผลงานที่นำเสนอเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยี AR และ AI ช่วยแก้ปัญหาคนรักต้นไม้ "จุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์ของจริงในการแข่งขันที่ผ่านมา โดยได้นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยคนรักบ้านที่ต้องการปลูกต้นไม้แต่ไม่รู้จะเลือกชนิดใดที่เหมาะสม โดยแอปพลิเคชันนี้ใช้เทคโนโลยี AR ในการตรวจจับพื้นที่และ AI วิเคราะห์ต้นไม้ที่เหมาะสม ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปต้นไม้ แปลงเป็นภาพ 3 มิติ และวางในพื้นที่ที่ต้องการปลูกเพื่อจำลองภาพก่อนตัดสินใจซื้อจริง นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลว่าต้นไม้ชนิดใดเหมาะกับการฟอกอากาศใยสภาวะฝุ่น PM2.5 ข้อแนะนำการปลูกทั้งภายในและภายนอกอาคาร การวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ปลูกว่าเหมาะกับต้นไม้ประเภทใด รวมถึงการวินิจฉัยโรคของต้นไม้อีกด้วย”

ความท้าทายที่สุดในโครงการนี้คือการ Pitching ผลงานให้จบภายใน 3 นาที โดยทั้งสองเล่าต่อว่า "หลังจากผ่านการคัดเลือกเหลือเพียง 40 ทีม เราต้องใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่าในการนำเสนอแนวคิดทั้งหมดต่อหน้าคณะกรรมการ นอกจากได้ฝึกทักษะการนำเสนอแล้ว การได้ออกไปแข่งขันภายนอกยังทำให้เรารู้ว่าความรู้ด้าน AI ที่เรามีอยู่นั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของศาสตร์ทั้งหมด การแข่งขันนี้ได้เปิดมุมมองและโลกใหม่ให้กับพวกเรา"


Learning Express Programme 2025: สร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างยั่งยืน
นอกจากโครงการ Learn Lab 2025 แล้ว ทั้งสองยังได้เข้าร่วม Learning Express Programme 2025 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพกับ Singapore Polytechnic ประเทศสิงคโปร์ โครงการนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากทั้งสองสถาบันได้ลงพื้นที่สำรวจวิถีชีวิตชุมชน ค้นหาปัญหา และร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) "โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์กับ Singapore Polytechnic โดยมีการแบ่งกลุ่มนักศึกษาที่มาจากหลากหลายสาขาให้ทำงานร่วมกัน เพื่อต้องการให้นักศึกษาจากทุกศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นคณะมนุษยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้รวมทีมและใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแต่ละคนในการแก้ไขปัญหาชุมชนจริง"



สำหรับผลงานของทีมไนน์ ซึ่งเข้าร่วมโครงการนี้เป็นปีที่ 2 เล่าว่า "หลังจากลงสำรวจพื้นที่และสอบถามชาวบ้านถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ พบว่าการจัดการขยะเป็นประเด็นสำคัญ ทีมของผมจึงออกแบบถังขยะสไตล์ใหม่ที่ผลิตจากท่อ PVC เหลือใช้ในชุมชน โดยเราได้ปรับปรุงการออกแบบให้แยกระหว่างตัวถังด้านนอกกับด้านใน เพื่อความสะดวกในการซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดการซื้อซ้ำและลดการผลิตถังขยะพลาสติกใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน"



ขณะที่ทีมของเกี๊ยวซ่า มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน "ทีมของเราได้พัฒนาต่อยอดจาก Chatbot ที่นักศึกษา Singapore Polytechnic เริ่มไว้ ให้กลายเป็นแอปพลิเคชันแบบครบวงจรสำหรับชุมชน เป็น One Stop Service ที่มีฟังก์ชันหลากหลาย เช่น การจองพื้นที่ Co-Working Space โดยเราทำงานร่วมกับนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในการออกแบบพื้นที่ภายใน รวมถึงการโฟกัสที่การออกแบบ ประสบการณ์ผู้ใช้ให้ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด ซึ่งได้รับการตอบรับและความสนใจจากชุมชนเป็นอย่างดี"
การเข้าร่วมโครงการนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ทั้งสองได้ทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะเท่านั้น แต่ยังได้ฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริงอีกด้วย "เนื่องจากมีนักศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ร่วมโครงการ เราจึงต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษตลอด เป็นโอกาสให้เราได้นำภาษาอังกฤษที่เรียนมาทั้งชีวิตมาใช้จริง และได้เปิดใจรับมุมมองความคิดที่แตกต่างจากเพื่อนๆ ต่างวัฒนธรรม ทำให้เราเติบโตและพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมาก"

บทเรียนล้ำค่าจากห้องปฏิบัติการสู่เวทีแข่งขัน
การเข้าร่วมทั้งสองโครงการไม่เพียงเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักศึกษาทั้งสอง แต่ยังได้ต่อยอดทักษะที่ได้รับการบ่มเพาะจากการเป็นสมาชิกห้องปฏิบัติการโรบอทสตูดิโอ หนึ่งในโครงการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ "พวกเราได้รับการพัฒนาทักษะที่หลากหลายและมีคุณค่าจากการเป็นสมาชิกโรบอทสตูดิโอ ผ่านการทำโปรเจคที่หลากหลายและการสวมบทบาทที่แตกต่างกันไปในแต่ละงาน"
ทั้งสองเล่าต่อว่า "หลายคนอาจมองว่าการเป็น ‘เป็ด’ ที่ทำได้หลายอย่างแต่ไม่เชี่ยวชาญเป็นเรื่องไม่ดี แต่สำหรับเรา การเป็นเป็ดคือการมีความสามารถรอบด้านที่ช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลาย พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับโลกในอนาคต”
การก้าวออกจากความสบายในห้องเรียนสู่เวทีการแข่งขันจริง ไม่เพียงช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่จำเป็น แต่ยังเปิดโลกทัศน์ สร้างเครือข่าย และปูทางสู่โอกาสใหม่ๆ ในอนาคต นับเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นต่อไปกล้าที่จะก้าวออกจากกรอบเดิม และค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเอง

แห่งการเรียนรู้
ไปกับ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ให้เราช่วยเลือกหลักสูตร คณะ สาขาหรือต้องการติดต่อกับเรา
ข้อมูลการศึกษา
ข้อมูลการสมัคร
ติดต่อมหาวิทยาลัย