Featured Stories
ข่าวสารและบทความ — 1 ใน 6 เด็ก BU-ITI ม.เอกชนเดียว คว้าทุน SYEP แลกเปลี่ยนไทย-ญี่ปุ่น
1 ใน 6 เด็ก BU-ITI ม.เอกชนเดียว คว้าทุน SYEP แลกเปลี่ยนไทย-ญี่ปุ่น

ขอแสดงความยินดีกับนางสาวรินรดา เทพแก้ว (ริน) นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 6 นักศึกษาไทยที่เรียนมหาวิทยาเอกชนคนเดียวได้รับทุน โครงการพัฒนาเยาวชนร่วมกับเมืองพี่เมืองน้อง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จัดโดยสำนักงานการต่างประเทศ กรุงเทพมหานครร่วมกับจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น

โดยคัดเลือกเยาวชนจากผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยมีการทดสอบข้อเขียน ตรวจสอบคุณสมบัติ จนได้ผู้ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ระหว่างสำนักงานการต่างประเทศ ร่วมกับจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น รวมจำนวน 22 คน และผู้ได้รับคัดเลือกมีเพียง 6 คน เท่านั้นที่จะได้รับการบ่มเพาะเฉพาะด้านทางจากทางสำนักงานการต่างประเทศ และจากประเทศญี่ปุ่นในหัวข้อ "Specialize Youth Exchange Program : SYEP" ณ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 11 - 16 มีนาคม 2568

ขอชื่นชมกับความเก่งของน้องริน ที่ตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรมใดก็ตามจะทำเต็มที่ด้วยความมุ่งมั่น เพื่อหวังให้ได้ซึ่งประสบการณ์ตลอด 4 ปีในรั้ว BU และกิจกรรมนี้น่าจะเป็นกิจกรรมสุดท้ายที่ได้เห็นน้องรินเข้าร่วมเพราะเรียนจบเป็นพี่ปี 4 เทอมสุดท้ายแล้ว แต่ขอทิ้งเรื่องราวดีๆ ไว้ให้ได้คิดถึงกันเสมอ

โจทย์ส่งไอเดีย
“กิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมและทราบข่าวมาจากเพื่อนส่งข้อมูลลงในกลุ่มไลน์ไว้ โครงการน่าสนใจโดยโจทย์แต่ละปีจะแตกต่างกันออกไป โดยปีนี้ในหัวข้อ แนวทางแก้ไขปัญหาของเมืองผ่านการนำเสนอโมเดลธุรกิจ (Business Model) ซึ่งน่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการนำเสนอไอเดียเลยลองเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้”


ไอเดียส่งผลงาน
“ไอเดียที่นำเสนอคือต้องการนำปัญหาของสวนสาธารณะให้ตอบโจทย์กับการใช้งานของผู้คน โดยข้อสังเกตุจะพบว่าสวนสาธารณะไม่เป็นที่นิยมเท่าห้างสรรพสินค้าเพราะการสร้างประสบการณ์ร่วมกันของพื้นที่ จึงนำไอเดียสวนสาธารณะมาเปิด Co-working space โดยรายได้ส่วนหนึ่งหักคืนเพื่อบูรณาการพื้นที่สีเขียว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น Digital Nomad หรือกลุ่มคนที่เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ พร้อมทำงานไปด้วย จากไอเดียนี้ทำให้เราเป็น 1 ใน 6 นักศึกษาไทยที่ได้เป็นคนตัวแทนไปร่วมทำโปรเจคกับเพื่อนๆ นักศึกษาญี่ปุ่นที่สนใจในไอเดียของ Green Space เหมือนกัน ด้วยความที่โครงการมีระยะเวลา 3 เดือน รินและทีมก็ช่วยกันคิดไอเดียหลายๆแบบ และเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนในพื้นที่และได้ค้นพบว่า กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอาหารริมทางทำงานตลอดเวลาจนไม่มีเวลาไปใช้พื้นที่สาธารณะ และเขายังมีปัญหาจากการไม่มีพื้นที่ขายของเป็นหลักเป็นแหล่ง รินกับเพื่อนจึงได้ไอเดียการเปิดพื่นที่ขายอาหารในสวน โดยใช้ชื่อโปรเจ็กว่า TT PARK ย่อมาจาก Thailand Taste Park ที่นำเรื่องอาหารสตรีทฟู้ดริมทางของไทยที่ขึ้นชื่อมาทำให้มีคุณค่าผ่านการเทรนนิ่ง จัดระเบียบพื้นที่การขาย และวางแผนระยะยาวเป็น Cloud Kitchen (ครัวสำหรับทำอาหารและจัดส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่) เพื่อรองรับปริมาณการขายอาหารในพื้นที่ที่จำกัดและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าออนไลน์”

6 วันที่คุ้มค่าทุกนาที
“ตลอดระยะ 6 วัน ได้ไปดูงานและเรียนรู้จากโจทย์จริงที่พี่ๆ จากบริษัท Borderless Japan มาแชร์ความรู้ด้วยเคสจริงที่ลงพื้นที่ จริงๆ คือเป็นการดูงานที่จริงจังเพราะพี่ๆ สอนให้เราลองคิดวิเคราะห์โจทย์ด้วยเพื่อให้มองเห็นภาพจริงพร้อมลงพื้นที่ การนำสินค้าจากท้องถิ่นของประเทศยากจน มาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าจนขายได้ราคา เข้าเยี่ยมสภาต่างๆ 1 วัน ดูงาน 2 วัน และเตรียมนำเสนอไอเดียของทีมอีก 2 วัน ซึ่งยากมากๆ การคิด Social business คือการวางแผนธุรกิจที่ทำกำไรและช่วยสังคมไปพร้อมๆกัน แต่เรากับทีมก็ช่วยกันคิดและนำเสนอผ่านไปได้ด้วยดี ทั้งเครียดทั้งสนุกเลยค่ะ อีก 1 วันสุดท้ายเป็นฟรีเดย์ให้ได้เที่ยวเมืองฟูกูโอกะ อากาศหนาวเย็นสุดๆ แต่ได้หายใจเข้าเต็มปอดสมกับคำร่ำลือที่ว่า ปอดของโลกจริงๆ”

ภาษาหัวใจของการเปิดโลกกว้าง
“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ถือเป็นการเปิดประสบการณ์แบบเปิดโลกการเรียนรู้ผ่านเพื่อนที่มีความคิดเดียวกันคือดีมาก เป็นการเปิดโอกาสของการทำงานที่ให้เราได้มีตัวเลือกให้เหมาะกับเรามาก ทั้งหมดนี้จะได้เกิดขึ้นเลยถ้าหากเราไม่มีภาษาในการสื่อสาร และภาษาที่สำคัญอย่างภาษาอังกฤษถือเป็นตัวช่วยให้เราได้ใช้ในการสื่อสารเพื่อเกิดความเข้าใจได้มาก ถ้าใครยังกลัวไม่กล้าพูดขอให้เริ่มจากการดูภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่ชอบเปิดพากย์ภาษาอังกฤษ เริ่มออกเสียงพูดตามผ่านโปรแกรมฝึกภาษาทุกคนทำได้เพราะรินก็ใช้วิธีนี้”
แห่งการเรียนรู้
ไปกับ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ให้เราช่วยเลือกหลักสูตร คณะ สาขาหรือต้องการติดต่อกับเรา
ข้อมูลการศึกษา
ข้อมูลการสมัคร
ติดต่อมหาวิทยาลัย